วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

การพยาบาลผู้ป่วยก่อนรับการผ่าตัด

การเตรียมและดูแลผู้ป่วยโดยทั่วไปก่อนรับการผ่าตัด
1. ซักถามหรือสอบถามข้อมูลต่างๆ ตลอดจนการสังเกตอาการต่างๆ ของผู้ป่วยให้ถูกต้องและชัดเจน และควรซักถามจาญาติผู้ป่วยเพิ่มเติม
2. แนะนำหรือปฐมนิเทศให้ผู้ป่วยรู้จักสถานที่ สิ่งแวดล้อมต่างๆในหอผู้ป่วย
3. ประเมินค่าสัญญาณชีพ(vital signs) ชั่งน้ำหนัก
4. เก็บ Specimens ส่งตรวจทางห้องทดลองตามแผนการรักษา
5. ให้ผู้ป่วยเซ็นชื่อยินยอมรับการรักษาโดยการผ่าตัดตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ในแต่ละโรงพยาบาล พร้อมทั้งมีพยานเซ็นชื่อกำกับไว้ด้วย
5.1 ผู้ป่วยซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ สามารถเซ็นยินยอมได้ หากไม่บรรลุนิติภาวะแต่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีสติสัมปะชัญญะดี สามารถเซ็นใบยินยอมผ่าตัดได้ด้วยตนเองได้
5.2 ผู้ป่วยที่มีสุขภาพจิตที่ไม่สมบูรณ์ต้องให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมายเป็นผู้เซ็นใบยินยอม
5.3 ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถตามผู้ปกครองมาเซ็นใบยินยอมผ่าตัดและศัลยแพทย์ต้องรีบผ่าตัดเร่งด่วนเพื่อช่วยชีวิต ต้องให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเป็นผู้เซ็นใบยินยอม
5.4 ในกรณีผู้ป่วยหรือผู้ปกครองไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือข้างขวาของผู้นั้น และให้เขียนกำกับตรงลายพิมพ์ว่า “ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือขวาของผู้ป่วยหรือผู้ปกครองของผู้ป่วยนั้น” และให้พยานลงชื่อกำกับ
6. แนะนำให้ผู้ป่วยงดสูบบุหรี่ในรายที่มีประวัติสูบบุหรี่ สำหรับผู้ป่วยที่รอเข้ารับการผ่าตัดชนิดรอได้
7. รายงานแพทย์ทราบเมื่อประเมินสภาพผู้ป่วยแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติดื่มสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด


8. อธิบายถึงการการเตรียมตัวผู้ป่วยให้ถูกต้อง
8.1 การเตรียมผิวหนังก่อนการผ่าตัด
8.2 การเตรียมลำไส้ก่อนการผ่าตัด
8.3 การให้ยากล่อมประสาท
8.4 การงดน้ำและอาหารก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
8.5 การให้ยาก่อนระงับความรู้สึกก่อนการผ่าตัด
9. สอนและแนะนำการออกกำลังกายบนเตียง
9.1 การหายใจเข้าเต็มที่ช้าๆ และการหายใจออกยาวๆ
9.2 การออกกำลังขาทั้งสองข้างขณะพักอยู่บนเตียง
9.3 การพลิกตัวตะแคงซ้ายหรือขวา
10. การแนะนำให้ผู้ป่วยเกี่ยวกับการลุกเดินโดยเร็ว (Early ambulation)
11. ดูแลการได้รับสารอาหาร น้ำและอิเล็คโตรไลท์ บางรายที่มีภาวะโลหิตจางแพทย์มักให้เลือดทดแทน สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานอาหารได้ก่อนการผ่าตัด พยาบาลดูแลให้ได้รับอาหารแคลอรี่สูง โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่สูง
12. บันทึกจำนวนน้ำที่ได้รับและที่ขับถ่ายออกแต่ละวันให้ถูกต้องแน่นอน เพื่อความสมดุลของน้ำในร่างกาย
13. ชั่งน้ำหนักทุกวันตามแผนการรักษาของแพทย์
14. ดูแลสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ ไม่มีเสียงรบกวนมาก ที่นอนควรเรียบตึง และสะอาดสิ่งแวดล้อมและของร่างกาย
15. สังเกตอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยที่เกี่ยวกับภาวะการขาดน้ำ ภาวะขาดโซเดียมและโปตัสเซียม หากพบความผิดปกติควรรีบรายงานแพทย์เพื่อให้การรักษา
16. สังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และติดตามผลการตรวจทางห้องทดลอง การตรวจทางรังสี และการตรวจพิเศษอื่นๆ หากพบอาการผิดปกติรายงานแพทย์ทราบ
17. ดูแลความสะอาดของผิวหนังและช่องปากเสมอ

การเตรียมและการดูแลผู้ป่วยในเช้าวันผ่าตัด
1. การตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่เตรียมการผ่าตัด ซักถามการพักผ่อนนอนหลับ การงดอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืน ผลการสวนอุจจาระ(ถ้ามี) และสังเกตอาการทั่วไป ตลอดจนกิจกรรมการรักษาพยาบาลพิเศษที่ให้กับผู้ป่วย เช่น การคาสายยางสำหรับการสวนปัสสาวะ การให้อาหารและน้ำทางหลอดเลือดดำ ฯลฯ
2. ตรวจดูความเรียบร้อยของผิวหนังบริเวณที่จะทำผ่าตัดว่าได้รับการทาผิวหนังด้วย Aseptic solutionในตอนเช้ามืดแล้ว
3. เก็บของมีค่า กิ๊บติดผม ฟันปลอม contact lens ฯลฯ จากตัวผู้ป่วยฝากไว้กับหัวหน้าตึกหรือพยาบาลประจำการ
4. บันทึกสัญญาณชีพ เพื่อประเมินสภาพการเปลี่ยนแปลงของตัวผู้ป่วย บันทึกไว้ในรายงานทางการพยาบาลสำหรับเปรียบเทียบในขณะที่ทำการผ่าตัด และบันทึกอาการและการรักษาพยาบาลที่ผู้ป่วยได้รับในรายงานทางการพยาบาลด้วย
5. ตรวจดูความเรียบร้อยของรายงานผู้ป่วย ตลอดจนผลการตรวจต่างๆ ตามแผนการรักษา
6. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาก่อนระงับความรู้สึก(pre-medication)
7. แนะนำให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะก่อนย้ายไปห้องผ่าตัด เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่างในรายที่ไม่ได้สวนปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะไว้ให้ตวงปัสสาวะและเททิ้งพร้อมกับบันทึกในรายงานการพยาบาล
8. ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นเปลเข็นของห้องผ่าตัดเมื่อพนักงานเปลมารับผู้ป่วย และเตรียมของใช้ต่างๆให้ครบ พร้อมลงบันทึกลงในสมุดสิ่งส่งมอบทุกครั้ง
9. เตรียมเตียงของผู้ป่วยให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะรับผู้ป่วยกลับจากห้องผ่าตัด โดยทำเตียงแบบ Anesthetic bed และควรมีการปูผ้ายางขวางเตียงตรงกับบริเวณแผลผ่าตัดผู้ป่วยด้วย รวมทั้งเตรียมผ่าห่ม เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วยหลังทำการผ่าตัด ซึ่งจะมักรู้สึกหนาว นอกจากนี้ควรเตรียมของให้ที่จำเป็น เช่น เสา สาแหรกแขวนสารละลายที่ให้ทางหลอดเลือดดำ เครื่องดูดเสมหะพร้อมกับขวดน้ำยา เครื่องดูดชนิดต่างๆ ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้กับผู้ป่วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น