วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นวิธีที่ช่วยให้สตรีได้พบความผิดพลาดของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
1.สิ่งผิดปกติที่จะต้องรีบปรึกษาแพทย์
2.พบก้อนหรือเนื้อที่เป็นไตแข็งผิดปกติ
3.มีน้ำเหลือง และเลือดไหลจากหัวนม
4.ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม
5.หัวนมถุงดึงรั้งจนผิดปกติ
6.เต้านมทั้งสองข้าง ไม่อยู่ในระดับเดียวกัน
7.ขนาด และรูปร่างต่างกันอย่างผิดปกติ
ในการตรวจเต้านมควรทำอย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจเพียงเดือนละครั้ง ควรเลือกใช้เวลาช่วงสั้นๆ ที่ท่านว่าง และเลือกสถานที่ที่จะไม่มีผู้อื่นมารบกวน ห้องน้ำหรือห้องนอนเป็นสถานที่ที่เหมาะสม แต่ควรมีกระจกเงาที่จะช่วยให้สามารถมองเห็นเต้านมของท่านได้เป็นอย่างดี
ระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะทำการตรวจ คือ ภายหลังหมดประจำเดือนแต่ละเดือน ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวเต้านมจะมีลักษณะอ่อนมากกว่าระยะเวลาอื่น และถึงแม้ว่าท่านจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว ท่านก็ควรจะตรวจเต้านมของท่านอย่างสม่ำเสมอ
วิธีการตรวจ 3 ท่า
วิธีที่ 1 ยืนหน้ากระจก
1.1 ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย เปรียบเทียบเต้านม ทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยว ของหัวนมหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ และบีบหัวนมดูว่ามีของเหลวไหลออกมาหรือไม่
วิธีที่ 2. นอนราบ
2.1 นอนในท่าสบาย ตรวจเต้านมขวา ให้สอดหมอนหรือ ม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา
2.2 ยกแขนขวาเหนือ ศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้น แผ่ราบซึ่งจะทำให้คลำก้อนเนื้อได้ง่าย โดยเฉพาะส่วยบนด้านนอกมีเนื้อนมหนามากที่สุด และเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด
2.3 ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) คลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือ ห้ามบีบเนื้อเต้านมเพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งความจริงไม่ใช่ และทำวิธีเดียวกันนี้กับเต้านมซ้าย
วิธีที่ 3. ขณะอาบน้ำ
3.1 สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำในทิศทางเดียวกับที่คุณใช้ในในท่านอน
3.2 สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้น ประคองและตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำจากด้านบน
วิธีการคลำ 3 แบบ
แบบที่ 1 การคลำในแนวก้นหอย โดยเริ่มจากคลำส่วนบนเต้านมไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่งถึงฐานเต้านมบริเวณรอบรักแร้
แบบที่ 2 การคลำในแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำส่วนบนของเต้านมจนถึงฐาน แล้วกลับขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
แบบที่ 3 การคลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า เริ่มคลำจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
วิธีการกด 3 ระดับ
1. กดเบาๆ เพื่อให้รุ้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง
2. กดปานกลาง เพื่อให้รู้สึกถึงกึ่งกลางของเต้านม
3. กดหนักขึ้น เพื่อให้รู้สึกได้ถึวส่วนลึกใกล้ผนังปอด
ผู้หญิงกับการดูแลเต้านมด้วยตนเอง
* อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน
* ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคือ 3 วัน นับจากประจำเดือนหมด ส่วนสตรีวัยที่หมดประจำเดือนให้กำหนดวันที่จดจำง่ายและตรวจในวันเดียวกันของทุกเดือน
* ก้อนที่คลำได้บริเวณเต้านมไม่ใช่ถุงน้ำหรือเนื้องอกธรรมดาเสมอไป อาจจะเป็นมะเร็งเต้านมได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์
* สำหรับผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

โรคตับแข็ง ในวัยกลางคน

ตับ เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมสภาพร่างกายให้อยู่ดีมีสุข โดยทำหน้าที่หลายอย่าง ตัวอย่าง เช่น ขจัดสารพิษออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันบางอย่างขึ้นมาต่อสู้โรคติดเชื้อ ตลอดจนกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ออกจากเลือด นอกจากนั้นตับยังทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว ตลอดจนสร้างน้ำดี ซึ่งมีหน้าที่ช่วยการดูดซึมไขมัน และไวตามินชนิดละลายในน้ำมัน

หน้าที่ที่สำคัญของตับพอสรุปได้ดังนี้
1. เป็นตัวสร้างน้ำดีจากโคเลสเตอรอล เก็บไว้ที่ถุงน้ำดีที่อยู่ด้านหลังตับ มีท่อต่อมาที่ลำไส้เล็กและหลั่งออกมาในลำไส้เล็กเพื่อช่วยย่อยไขมัน ดังนั้นถ้าตับหรือถุงน้ำดีอักเสบก็จะก่อให้เกิดปัญหาในการสร้างหรือหลั่งน้ำดีส่งผลเสียต่อการย่อยไขมัน ทำให้มีอาการท้องอืด แน่นท้อง หลังกินอาหารที่มีไขมันมากๆ ได้
2. เป็นแหล่งสร้างสารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย เช่น โปรตีน กลูโคส ไขมัน วิตามิน
3. เป็นแหล่งสลายและกำจัดของเสียออกจากร่างกาย เช่น เปลี่ยนโปรตีนที่สลายแล้วในรูปของแอมโมเนียให้กลายเป็นยูเรียแล้วขับออกทางไต
ตับแข็งเป็นสภาวะตับที่เกิดแผลเป็นขึ้นหลังจากมีการอักเสบหรือภยันตรายต่อเนื้อตับ เมื่อเนื้อตับที่ดีถูกทำลายลงจากการอักเสบหรือสาเหตุอื่น ๆ เนื้อตับที่เหลือจะล้อมรอบและทดแทนด้วยเนื้อเยื่อประเภทพังผืด เป็นผลให้เลือดที่ไหลผ่านตับถูกอุดกั้น ไหลไม่สะดวก และการทำงานของตับลดลง เนื่องจากเนื้อตับดีที่เหลืออยู่ลดน้อยลง
โรคตับแข็งเป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างของตับ ปกติเนื้อตับจะนุ่ม ถ้ามีพังผืดเกิดขึ้นที่เนื้อตับ เช่น จากการอักเสบ เนื้อตับจะแข็ง และถ้ามีการทำลายเซลล์ตัวอย่างเรื้อรังจนมีพังผืดเกิดขึ้นในปริมาณมาก การทำงานของตับจะเสื่อมประสิทธิภาพไป จากการที่ตับมีขนาดใหญ่ เวลาเนื้อตับเสื่อมหรือเสียจึงค่อยๆ เป็นทีละจุด และค่อยๆ เกิดทีละส่วนจนตับแข็ง ถ้าได้อาหารที่ถูกต้องเนื้อตับอาจจะกลับสู่สภาพปกติได้ แต่ถ้าดูแลไม่ดีพังผืดจะแข็งขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายจะเสียไปเลย และเมื่อเกิดตับแข็งแล้วเส้นเลือดที่อยู่รอบตับจะเกิดปัญหาตามมา มีแรงดันในเส้นเลือดเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการแตกแขนงเป็นเส้นเล็กๆ ซึ่งจะเปราะบางและแตกได้ง่าย เป็นเหตุให้ผู้ป่วยโรคตับแข็งอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร อาเจียนเป็นเลือด เสียเลือดมาก และหมดสติได้
เคยมีผู้ประเมินไว้ว่าโรคตับแข็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลก 25,000 คนทุกปี จัดได้ว่าเป็นสาเหตุการตายที่เกิดจากโรคเป็นอันดับที่ 8 นอกจากนี้โรคตับแข็งยังเป็นสาเหตุของการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้ป่วยขาดงานรวมทั้งค่าใช้จ่ายรักษาในโรงพยาบาล และยังก่อให้เกิดทุกขเวทนาในผู้ป่วยที่เป็น เช่น ภาวะท้องมานน้ำ เป็นต้น
สาเหตุของโรคตับแข็ง
โรคตับแข็งมีสาเหตุมากมาย โดยสาเหตุนั้น ๆ จะต้องทำให้ตับมีการอักเสบเรื้อรังนาน ๆ เป็นปี จนทำให้เนื้อตับตายลง เกิดแผลเป็น มีเนื้อเยื่อพังผืดแข็งแทรกในตับ สาเหตุที่สำคัญที่พบในประเทศไทย คือ การดื่มสุราเรื้อรัง และการติดเชื้อสาเหตุที่ไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี เรื้อรัง รวมทั้งยาและยาสมุนไพรบางประเภท
1.สุรา เมื่อกล่าวถึงโรคตับแข็ง คนทั่วไปก็มักจะนึกถึงสาเหตุจากการติดสุราเรื้อรัง ที่จริงแล้วแอลกอฮอล์เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคตับแข็ง โรคตับแข็งที่เกิดจากสุรามักเกิดขึ้นหลังดื่มสุราปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลาสิบ ๆ ปี ปริมาณของสุราที่ดื่มทำให้เกิดโรคตับแข็ง โรคตับแข็งแปรผันไปตามแต่ละบุคคลและเพศ สตรีมักเกิดโรคตับแข็งได้น้อยกว่าบุรุษในปริมาณสุราที่ดื่มเท่า ๆ กัน แอลกอฮอล์ในสุราจะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบจากสุราขึ้น และเมื่อเป็นนาน ๆ ก็จะเกิดภาวะตับแข็ง มีผู้ประเมินไว้ว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 160 กรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 5-10 เกิดภาวะโรคตับแข็งได้ง่าย หรือเปรียบเทียบได้เท่ากับการดื่มสุราวิสกี้ 480 ซีซี ต่อวัน หรือไวน์ 1,600 ซีซีต่อวัน หรือเบียร์ 4,000 ซีซีต่อวัน
ผลของเหล้าที่กระทำต่อตับ
ในกระบวนการที่เหล้าเข้าไปในตับและเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานนั้น จะมีช่วงที่มันกลายไปเป็นอะเซตาลดีไฮด์ แล้วก็เปลี่ยนไปเป็นอะซีเตท (ซึ่งเอาไปสร้างพลังงาน) และในกระบวนการช่วงที่เปลี่ยนอะซีเตทไปเป็นพลังงาน จะเกิดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งมีฤทธิ์แบบอนุมูลอิสระ หรือ พอกินเหล้าไปแล้วก่อเกิดสารที่ทำลายเซลล์ตับขึ้น ตับจะเกิดการอักเสบขึ้นมา และเมื่อตับทำการซ่อมแซม ก็จะเกิดแผลเป็นขึ้น ถ้าเป็นแล้วหยุดเหล้า ตับซึ่งมีความสามารถในการซ่อมแซมตนเองสูงมาก ก็จะซ่อมแซมตนเองจากที่เคยผิดปกติจะกลับมาสู้สภาพปกติได้ แต่ถ้าไม่หยุด หากเป็นติดต่อกันนานๆเข้าก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ตับแข็ง"ขึ้นตับกลายเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ
ผลของเหล้าที่มีต่อตับในแง่กระบวนการสร้าง
ในสภาวะปกติที่ร่างกายกินอาหารเข้าไป อาหารที่ถูกย่อยและดูดซึม จะเข้าไปในกระแสเลือด ไม่ว่าน้ำตาล โปรตีน ไขมัน ต่างถูกนำไปสู่ตับ จากนั้นตับจะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารเหล่านี้เพื่อให้เหมาะสมต่อการกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ บางส่วนตับจัดให้กลายเป็นพลังงานสะสมในตับ บางส่วนตับจะส่งไปสะสมในรูปไขมันตามส่วนต่างๆของร่างกาย แอลกอฮอล์ เมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ส่วนหนึ่งไปสมอง(ทำให้เกิดอาการเมา) ส่วนที่เหลือก็ไปยังตับ แอลกอฮอล์เป็นสารที่ให้พลังงาน เมื่อเข้าไป ตับก็จะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้กลายเป็นสารที่ร่างกายจะเอาไปใช้ให้เกิดพลังงาน เป็นสารที่ไม่มีคุณค่าทางอาหาร ดังนั้นจึงจัดในกลุ่มอาหารชั้นเลว เพราะพอกินไปแล้วร่างกายไม่รู้สึกอิ่ม แต่ว่าทำให้ร่างกายรู้สึกว่ามีพลังงานในร่างกายมาก ดังนั้นเมื่อเรากินอาหารเข้าไปตามปกติ ตับก็จะเปลี่ยนพลังงานส่วนเกินจากแอลกอฮอล์ให้กลายไปเป็นไขมัน ดังนั้นก็จะกลายเป็นสาเหตุของโรคอ้วน ซึ่งจะตามมาด้วยโรคทางหลอดเลือดหัวใจและสมองต่อไป นอกจากนี้กรดไขมันที่เกิดขึ้นมาในกระบวนการนี้ ยังมีบางส่วนที่จะสะสมในตับ เกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า Fatty Liver หรือที่คนไทยชอบเรียกว่า "ไขมันเกาะตับ"อีกด้วย
ผลของเหล้าที่มีต่อตับในแง่ของการทำลาย
เมื่อกินเหล้าเข้าไปเหล้าจะโดนส่งไปที่ตับ จากนั้นเหล้าก็จะถูกตับเปลี่ยนเพื่อเปลี่ยนไปเป็นพลังงานตามที่ได้ว่าไว้ บางส่วนของเหล้าจะเข้ากระบวนการของตับที่มีชื่อเรียกว่า Cytochrome P450 oxidase เป็นชื่อเอนไซม์ตัวนึงที่ใช้ในการทำลายเปลี่ยนแปลงสารต่างๆ ยาหลายตัวต้องใช้ P450 นี้ ยาบางชนิด ใช้เพื่อให้ยาทำงานได้ผล ยาบางตัวมีพิษ ก็จะมาถูกทำลายด้วยP450 นี้ แต่ถ้ากินเหล้าเข้าไป จะไปกระตุ้น P450 นี้ให้ทำงานมากขึ้น เมื่อ P450ทำงานมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ยาหลายตัวที่กินเข้าไป จะไปถูกทำลายที่นี่มากขึ้น ถ้าคนปกติกินยาเข้าไป 1 เม็ด ออกฤทธิ์ ครึ่งเม็ด คนที่กินเหล้าเป็นประจำ กินเข้าไปหนึ่งเม็ด สามในสี่อาจจะโดนทำลาย เหลือออกฤทธิ์จริงๆแค่หนึ่งในสี่ ดังนั้นกินยาเข้าไปก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์จากยาเลย จึงไม่น่าแปลก หากใครกินเหล้าเป็นประจำแล้วเวลาเจ็บป่วยแล้วรักษาหายช้า หายไม่ทันใจ บางคนให้ยาถูกต้อง รักษาถูกต้อง ก็หายช้า บางครั้งบางคราวพาลไปโทษว่ายาไม่ดีรักษาไม่ดีเสียด้วยซ้ำ
2.ไวรัสตับอักเสบ มีไวรัส 3 ตัวที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ บี, ซี และดี ในประเทศไทยพบมากเฉพาะไวรัส บี และซีเท่านั้น ไวรัสตับอักเสบบี จัดเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเรื้อรัง และเป็นต้นเหตุของตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นสาเหตุของตับอักเสบเรื้อรังและตับแข็งที่สำคัญในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่วนไวรัสตับอักเสบ ดี จะเกิดเฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อยู่ก่อนแล้วเท่านั้น (เพราะต้องอาศัยไวรัส บี ในการแบ่งตัวเติบโตของไวรัส ดี เอง) พบมากในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น อิตาลี
3. ยา สารพิษ และพยาธิบางชนิด ยาบางชนิดต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังกลายเป็นตับแข็งได้ ยาประเภทสมุนไพรบางชนิด เช่น ยาเม็ดใบขี้เหล็ก ซึ่งนิยมใช้เป็นยานอนหลับ ถ้ากินขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังได้ สารพิษบางประเภท เช่น สารหนู (arsenic) ก็ก่อให้เกิดพังผืดในตับได้ รวมทั้งพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิ Schistosome ซึ่งอาศัยในเส้นเลือดก็กระตุ้นให้เกิดตับแข็งได้
4. ภาวะดีซ่านเรื้อรัง เนื่องจากท่อน้ำดีอุดตัน ปกติแล้วน้ำดีถูกส่งขึ้นที่ตับ และไหลลงมาสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น โดยมาตามท่อน้ำดี ถ้ามีการอุดกั้นการไหลของน้ำดีบริเวณท่อน้ำดีจากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม เช่น จากนิ่วน้ำดีอุดท่อน้ำดี หรือเนื้องอกอุด หรือเบียดท่อน้ำดีจนตีบตันเป็นเวลานาน น้ำดีที่ไหลย้อนกลับไปที่ตับก็สามารถทำลายเนื้อตับจนเป็นตับแข็งได้
5. ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง ทำให้มีเลือดคั่งที่ตับ เลือดไหลเวียนในตับลดลง เนื้อตับเกิดภาวะขาดออกซิเจนตายลง
6. โรคกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น โรควิลสันมีการสะสมของทองแดงมากในตับ ทำให้เนื้อตับอักเสบและตาย เกิดตับแข็ง โรคอื่น ๆ เช่น hemochromatosis มีการสะสมของเหล็กมากในตับ glycogen storage disease มีความบกพร่องของการใช้คาร์โบไฮเดรตบางประเภท
7. โรคตับอักเสบจากภูมิต่อต้านตนเอง (autoimmune hepatitis) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหันมาทำลายตับตนเอง พบได้มากในชาวยุโรป แต่ประเทศไทยพบน้อย
8. โรคตับอักเสบจากไขมัน (nonalcoholic steathepatitis) เป็นโรคที่เพิ่งพบกันเร็ว ๆ นี้ว่า ภาวะที่มีไขมันสะสมที่ตับเป็นจำนวนมาก อาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังจนตับกลายเป็นตับแข็งได้ ภาวะตับมีไขมันมากนี้อาจพบร่วมกับโรคบางโรคได้ เช่น เบาหวาน ทุโภชนาการ (ขาดอาหาร) อ้วนกว่าปกติ และการใช้ยาบางชนิด เช่น steroid เป็นเวลานาน ๆ

อาการของโรคตับแข็ง
อาการของโรคตับแข็งในผู้ป่วยระยะแรกเริ่ม มักไม่มีอาการผิดปกติ ส่วนใหญ่ตรวจพบโดยบังเอิญ โดยอาจมีอาการอ่อนเพลีย หมดแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักตัวลด เป็นต้น ถ้ารุนแรงมากขึ้น อาจจะสังเกตพบว่าผิวหนังและตาขาวของผู้ป่วยจะมีสีเหลือง ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องมานน้ำและขาบวม ฝ่ามือมีสีแดงเข้มผิดปกติ พรายย้ำช้ำเขียวตามผิวหนัง มักเกิดบริเวณหน้าอก และหัวไหล่ นอกจากนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อง่าย อาจมีอาการทางสมองเช่น ซึม สับสน ความทรงจำเสื่อม ขาดสมาธิ จนถึงขั้นไม่รู้สึกตัว
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคตับแข็ง อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อาการที่เกิดจากการทำงานของตับลดลง และ อาการที่เกิดจากความดันเลือดในตับสูง
อาการที่เกิดจากการทำงานของตับลดลง
อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย จะค่อยๆ เกิดขึ้นโดยไม่ค่อยรู้สึกตัว เริ่มแรกจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้ และอาจมีอาการอาเจียนเป็นบางครั้ง รู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย หากอาการมากขึ้นจะมีการสร้างโปรตีนลดลง ทำให้เท้าบวม มีน้ำในช่องท้อง เกิดท้องมาน อาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองเป็นดีซ่านได้
อาการที่เกิดจากความดันเลือดในตับสูง
เกิดจากพังผืดดึงรั้งในตับ ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เกิดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากเส้นเลือดที่หลอดอาหารขอดแล้วแตก ซึ่งอาจถึงช็อกและเสียชีวิตได้ ในรายที่เป็นมากอาจซึม หรือในระยะยาวอาจเกิดมะเร็งตับได้
อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
อาการอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นเสมอๆ ถือเป็นความผิดปกติของร่างกายที่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและให้การบำบัดรักษา ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆได้มากมายหลายชนิด ผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะแรกอาจมีเพียงแค่อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายเท่านั้น
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
เมื่อตับเกิดการอักเสบขึ้นมาไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม มักมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนตามมาเสมอ ถ้าเป็นอยู่ในระยะสั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการมากนัก แต่ถ้าอาการของโรคตับนั้นเสื่อมลงกลายเป็นแบบเรื้อรังไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเปลี่ยนเป็นโรคตับแข็งเมื่อไร จะมีผลต่อภาวะโภชนาการอย่างมาก เกิดโรคขาดสารอาหารต่างๆ เช่น ขาดโปรตีนและพลังงาน ขาดวิตามิน สาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพของการย่อย ดูดซึม และเผาผลาญสารอาหารลดน้อยลงไป โรคตับแข็งมีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการด้านต่างๆ อย่างมาก
ท้องอืดเฟ้อ
ท้องอืดเกิดจากลมในท้องมากทำให้อึดอัด แน่นในท้อง หากเป็นมาก ๆ อาจจะทำให้มีอาการปวดท้องเป็นพัก ๆ หรือมีอาการเรอมาก หรือผายลมบ่อย ๆ ในผู้มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ระบบการย่อยอาหารทำงานได้น้อยลง รวมทั้งถุงน้ำดีก็ไม่สามารถทำให้น้ำดีเข้มข้นได้เท่ากับตอนเป็นหนุ่มสาว จึงทำให้สมรรถภาพในการย่อยอาหารลดลง
คลื่นไส้และอาเจียน
กลไกคลื่นไส้และอาเจียนในร่างกายเป็นปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ เกิดจากการกระตุ้นตัวรับเคมีในทางเดินอาหารส่วนต้น และตัวรับเชิงกลในผนังของทางเดินอาหาร โดยการหดตัวและคลายตัวของลำไส้ ร่วมกับภยันตรายทางกายภาพ ศูนย์ควบคุมในสมองอยู่ที่ parvicellular reticular formation ในบริเวณสมองส่วน lateral medullary region เส้นประสาทรับรู้มาจาก abdominal splanchnic, เส้นประสาทเวกัส, vestibulo-labyrinthine receptors, สมองใหญ่ และ chemoreceptor trigger zone (CTZ) ส่วนของ CTZ อยู่ใกล้กับ area postrema ประกอบไปด้วยตัวรับเคมีที่ทำหน้าที่สุ่มตรวจเลือดและน้ำไขสันหลัง และทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ควบคุมในสมองอย่างใกล้ชิด อาจถูกกระตุ้นจากสารภายในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ หรือถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น ยาบางชนิด ส่วนของวงจรขาออกส่งผ่านสัญญาณประสาทไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ V, VII, IX, เส้นประสาทเวกัส และระบบประสาทซิมพาเตติก ทำให้เกิดการอาเจียนขึ้น
เจ็บบริเวณชายโครงขวา
อาการปวดท้องด้านขวา หรือเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อวัยวะภายในที่อยู่บริเวณนั้น ได้แก่ ตับ ถุงน้ำดี ไต และลำไส้ การวินิจฉัยจำเป็นต้องพิจารณาจากอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น อุจจาระปัสสาวะมีอาการผิดปกติหรือไม่ ลักษณะอาการปวดเป็นอย่างไร ปวดในเวลาใด นอกจากนี้ยังต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อให้ได้การวินิจฉัยเบื้องต้น บางรายอาจต้องทำการตรวจอัลตราซาวด์ในช่องท้องเพิ่มเติม พบว่าผู้ป่วยโรคตับแข็งมีโอกาสเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้บ่อยกว่าคนทั่วไปสองเท่า เนื่องจากตับเกี่ยวข้องโดยตรงกับเมตะบอลิสซึมของสารเม็ดสีในน้ำดี


ท้องมานและเท้าบวม
1. ผู้ป่วยโรคตับแข็งจะมีท้องโตขึ้น เนื่องจากมีน้ำคั่งอยู่ภายในช่องท้อง และมักมีอาการขาบวมทั้ง 2 ข้างด้วย เกิดขึ้นเนื่องจากตับสร้างโปรตีนที่เรียกว่าอัลบูมินได้น้อยกว่าปกติ อัลบูมินในเลือดมีหน้าที่ช่วยอุ้มน้ำไว้ในกระแสเลือด เมื่อปริมาณอัลบูมินในเลือดลดลง ร่วมกับการที่หลอดเลือดดำในตับมีความดันสูงขึ้น ทำให้สารน้ำและเกลือแร่รั่วเข้ามาอยู่ในช่องท้องและในเนื้อเยื่อของผู้ป่วย เกิดเป็นภาวะท้องมานและขาบวมขึ้น
2. ในรายที่ท้องมานอาจเกิดการติดเชื้อของน้ำในช่องท้องได้ ผู้ป่วยโรคตับแข็งมักมีภูมิคุ้มกันต่ำลง เนื่องจากโปรตีนหลายๆชนิดที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นจากตับ เมื่อร่วมกับภาวะที่มีน้ำท้องมาน ซึ่งน้ำในช่องท้องนี้มีธาตุอาหารสมบูรณ์สามารถเลี้ยงเชื้อได้เป็นอย่างดี ก็อาจเกิดภาวะการติดเชื้อของน้ำภายในช่องท้องได้ ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีไข้ต่ำๆไปจนถึงไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้อง หน้าท้องกดเจ็บ ไปจนถึงภาวะโลหิตเป็นพิษ ถึงกับเสียชีวิตได้ จำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาลให้ยาปฏิชีวนะโดยเร็ว แพทย์จะวินิจฉัยภาวะนี้ได้โดยทำการเจาะท้องมาตรวจนับเซลล์เม็ดเลือดขาวของน้ำในช่องท้อง
3. ภาวะไส้เลื่อนที่สะดืออาจพบได้ในผู้ป่วยท้องมานจากตับแข็ง ผู้ป่วยจะมีท้องมานโต และน้ำดันรูรั่วที่สะดือนูนออกมาจนเป็นสะดือจุ่นขนาดโต โรคแทรกซ้อนที่พบได้คือผิวหนังบริเวณสะดือจุ่นนี้เป็นแผลและเกิดการติดเชื้อ ถ้าผิวหนังบริเวณนี้บางมากอาจโป่งและแตกออกมีน้ำท้องมานไหลรั่วออก เกิดการติดเชื้อของน้ำท้องมานได้ง่าย ในกรณีนี้มีอัตราตายสูงมาก ในบางรายอาจมีลำไส้ยื่นเข้ามาอยู่ในสะดือจุ่นนี้ และขอบรูรั่วของผนังหน้าท้องกดรัดจนไม่มีเลือดเข้ามาเลี้ยงลำไส้ส่วนยื่นเข้ามา จนในที่สุดลำไส้ส่วนที่ยื่นนี้เน่าอักเสบจนต้องรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาภาวะไส้เลื่อนที่สะดือคือ พยายามควบคุมลดน้ำท้องมาน หรืออาจจำเป็นต้องผ่าตัดเย็บปิดรูรั่วที่สะดือ
4. ผู้ป่วยท้องมานจากตับแข็ง อาจเกิดภาวะน้ำท่วมในช่องเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วย การมีน้ำท่วมอยู่ในช่องปอดทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยได้ ส่วนใหญ่มักเกิดน้ำท่วมในช่องเยื่อหุ้มปอดด้านขวาข้างเดียว
ดีซ่าน ตาเหลือง
ตัวเหลืองน้ำดีเป็นสารสำคัญที่สร้างมาจากตับ ซึ่งในคนจะสร้างประมาณวันละ 600 ซีซี เมื่อแรกสร้างจะมีน้ำอยู่ถึงร้อยละ 97 แล้วจะถูกเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ต่อมาน้ำและเกลือแร่ที่ละลายในน้ำถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้น เมื่ออาหารผ่านมาถึงลำไส้เล็กส่วนต้น ถุงน้ำดีจะถูกกระตุ้นให้บีบตัวปล่อยน้ำดีลงไปสู่ลำไส้เล็ก เพื่อช่วยย่อยอาหารไขมัน น้ำดีที่สร้างจากตับมีพีเอชเป็นด่าง (7.8-8.0) ส่วนน้ำดีที่อยู่ในถุงน้ำดีมีพีเอชเป็นกรด (7.0-7.4) และในน้ำดีจะไม่มีน้ำย่อยอาหาร
ส่วนประกอบของน้ำดี ประกอบด้วยสามส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นน้ำและเกลือแร่ที่ละลายอยู่ในน้ำ ได้แก่ โซเดียม โปตัสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม คลอไรด์ และไบคาร์บอเนต ส่วนนี้มีปริมาณมากที่สุด มากกว่าร้อย 97 ของทั้งหมด ส่วนที่สองเป็นของแข็ง ได้แก่ เกลือน้ำดี สารบิลลิรูบิน โคเลสเตอรอล ฟอสโฟไลปิด ไขมัน และโปรตีน ส่วนที่สามเป็นเอ็นซัยม์ชื่อ อัลคาไลน์ ฟอสฟาเทส
ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่การทำงานของตับเสียหายไปมาก น้ำดีจะไหลย้อนกลับเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดเป็นดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง และปัสสาวะสีเข้มขึ้น ทั้งนี้ตรวจเลือดพบสารบิลลิรูบินสูงมากกว่า 2-3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ 30 มิลลิโมลต่อลิตร
อาเจียนเป็นเลือด
เนื่องจากเส้นเลือดที่หลอดอาหารขอดแล้วแตก ซึ่งอาจถึงช็อกและเสียชีวิตได้ ในรายที่เป็นมากอาจซึม ถือเป็นโรคแทรกซ้อนจากภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีเส้นเลือดดำขอดเหล่านี้มีโอกาสที่เส้นเลือดดำขอดจะแตกได้ และมีโอกาสเสียชีวิตสูง แม้เลือดจะหยุดก็มีโอกาสตกเลือดซ้ำ ปัจจัยเสี่ยงต่อการตกเลือดจากเส้นเลือดดำขอด ได้แก่ ขนาดของเส้นเลือดดำขอดที่ใหญ่ ความดันที่สูงมากในระบบเลือดดำปอร์ตัล และตับแข็งที่เป็นมาก
ในอดีตผู้ป่วยที่มีเลือดออกจากเส้นเลือดดำขอดที่หลอดอาหารมักเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีวิธีการรักษา นอกจากการผ่าตัดไปผูกเส้นเลือดดำขอดหรือผ่าตัดต่อเส้นเลือดดำปอร์ตัลเข้าสู่เส้นเลือดดำใหญ่ของร่างกาย เพื่อลดความดันโลหิตในระบบปอร์ตัลลง แต่การผ่าตัดเหล่านี้มีอัตราการเสี่ยงสูง แม้จะห้ามเลือดที่ออกได้แต่หลังผ่าตัดผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ฟื้นสติรู้สึกตัว เนื่องจากมีสารพิษคั่งในสมอง
ปัจจุบันมีวิธีการห้ามเลือดที่ออกจากเส้นเลือดดำขอดหลอดอาหารหลายวิธีที่ได้ผลดีกว่า โดยไม่ต้องผ่าตัด เช่น ใช้ยาบางประเภทที่ไปลดปริมาณเลือดไหลเวียนผ่านระบบเลือดปอร์ตัล และทำให้เส้นเลือดดำขอดหลอดอาหารหดตัว หรือการใส่สายยางที่มีลูกโป่งใหญ่ที่ปลายสายไปกดเส้นเลือดดำขอดที่แตก หรือโดยการส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหารและใช้ยาบางชนิดฉีดเข้าไปในเส้นเลือดดำ ทำให้เส้นเลือดเหล่านี้แข็งตัวและตีบตันไป หรือใช้ยางรัดเล็กๆ ผ่านทางเครื่องมือพิเศษไปรัดหลอดเลือดดำขอดเพื่อห้ามเลือด
ในกรณีที่วิธีการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นใช้ไม่ได้ผลในการห้ามเลือด รังสีแพทย์อาจช่วยสร้างทางเชื่อมระบายเลือดออกจากระบบเลือดดำปอร์ตัลได้ โดยใช้ท่อโลหะยืดหยุ่นเป็นทางเชื่อมเพื่อระบายเลือดออกจากระบบปอร์ตัล วิธีการเหล่านี้ยังสามารถลดน้ำท้องมานได้ดีด้วย
อาการทางสมองและระบบประสาท
1. ผู้ป่วยตับวายในระยะท้ายจะมีอาการซึม เพ้อ มือสั่น และค่อยๆไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งหมดสติ อาการทางจิตประสาทเกิดจากสารพิษในลำไส้ที่ตับไม่สามารถกำจัดออกจากร่างกายได้ อาจสังเกตจากลักษณะอาการมือสั่น ซึ่งมักเป็นทั้งสองข้าง เรียกว่า flapping tremor
2. ภาวะทางสมองในผู้ป่วยโรคตับแข็งเกิดจากการที่ตับขจัดสารพิษไม่ได้ ปกติสารพิษในร่างกายจะถูกขจัดโดยทางตับและไต ถ้าตับเสื่อมลงทำงานได้น้อยลง สารพิษที่สะสมอยู่จะไปกดทับการทำงานของตับ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางจิต ในรายที่อาการน้อยอาจสังเกตได้ยาก ผู้ป่วยจะมีอาการร่าเริงพูดมากผิดปกติ ต่อมามีอาการสับสน ซึมลง เมื่อจับมือผู้ป่วยตั้งขึ้นจะมีอาการสั่นคล้ายนกกระพือปีก ในรายที่เป็นมากจะมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว
3. ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีสาเหตุซ้ำเติมที่ทำให้เกิดได้จากการสลายโปรตีนของร่างกาย อาจจำเป็นต้องจำกัดปริมาณโปรตีนในอาหารให้น้อยที่สุดระหว่างที่มีอาการ ทำให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ พิจารณาเสริมโปรตีนที่เป็นกรดอะมิโนชนิดกิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ โดยไม่ทำให้เกิดอาการทางสมอง
4. ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการทางสมองไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากตับแย่จนขจัดสารพิษไม่ไหวเพียงอย่างเดียว แต่มักเกิดจากสาเหตุซ้ำเติม เช่น มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ท้องผูก ทำให้มีการสลายโปรตีนจากเลือดหรืออุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ เลือด 100 ซีซี จะมีโปรตีนสูงถึง 60 กรัม การสลายโปรตีนจะเพิ่มปริมาณสารพิษ เช่น แอมโมเนียขึ้นมาจนตับไม่สามารถกำจัดได้ทัน สารพิษเหล่านี้จะไปยับยั้งการทำงานของสมองทำให้ผู้ป่วยซึมลงจนหมดสติได้
5. สาเหตุซ้ำเติมอื่นที่พบบ่อย ได้แก่ การติดเชื้อ และภาวะโปแตสเซียมต่ำในเลือด ซึ่งมักเป็นผลจากการได้ยาขับปัสสาวะจำนวนมาก การรักษาสาเหตุซ้ำเติมเหล่านี้ และขจัดสารพิษโดยการสวนอุจจาระทิ้ง หรือให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาระบายท้องจะช่วยให้อาการดีขึ้น
อาการคันผู้ป่วยโรคตับแข็งอาจมีอาการคันตามผิวหนังได้บ่อย โดยเฉพาะในรายที่ตับแข็งเกิดจากการอุดกั้นทางเดินน้ำดีที่เรื้อรัง พบว่าเกลือน้ำดีมีฤทธิ์เป็นสารก่ออาการคันที่รุนแรงชนิดหนึ่ง เกลือน้ำดีมีสองชนิด โซเดียมไกลโคโคเลต (sodium glycocholate) และโซเดียมทอโรโคเลต (sodium taurocholate) ถูกสร้างขึ้นมาจากโคเลสเตอรอลโดยตับ สารเหล่านี้จะถูกหลั่งเป็นน้ำดีโดยเซลล์ตับโดยผ่านทางท่อน้ำดีย่อย ไหลมารวมกันเป็นท่อน้ำดีเข้าสู่ถุงน้ำดี โดยทั่วไปแล้วความเข้มข้นของเกลือน้ำดีในน้ำดีคิดเป็นร้อยละ 0.8 ถุงน้ำดีสามารถดูดน้ำกลับเข้าไปเพื่อทำให้น้ำดีเข้มข้นในระหว่างมื้ออาหาร น้ำดีสามารถมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นได้ถึง 5 เท่าจากปกติ ก่อนที่จะมีการบีบตัวของถุงน้ำดีเพื่อขับน้ำดีออกมายังลำไส้เล็กส่วนต้นเมื่ออาหารผ่านเข้ามาในลำไส้เล็ก กลิ่นตับวายมีลักษณะค่อนข้างจำเพาะ เรียกว่า fetor hepaticus เกิดจากสาร dimethyl sulfide
ความผิดปกติที่ผิวหนัง
ลักษณะผิดปกติที่ผิวหนังที่พบบ่อย เรียกว่า spider nevi เนื่องจากมีลักษณะคล้ายแมงมุม เกิดจากหลอดเลือดฝอยที่ผิวหนังได้รับผลกระทบจากปรมาณของฮอร์โมนเอสตราไดออลเพิ่มขึ้นในเลือด พบได้ในผู้ป่วยโรคตับแข็งหนึ่งในสามราย
ผิวหนังบริเวณฝ่ามือแดงกว่าปกติ เรียกว่า palmar erythema เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเมตะบอลิสซึมของฮอร์โมนเพศ
ตรวจพบความผิดปกติของเล็บได้หลายแบบ เช่น Muehrcke's nails, Terry's nails และ clubbing ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะอัลบูมินต่ำในเลือด
เลือดออกผิดปกติ
ตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด เมื่อเกิดภาวะตับวาย จะเกิดภาวะพร่องโปรตีนเหล่านี้ในร่างกาย และทำให้เกิดปัญหาเลือดออกผิดปกติตามมา
กลไกการห้ามเลือดต้องอาศัยหน้าที่ของหลอดเลือด เกล็ดเลือด และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดต่างๆ ทำหน้าที่ต่อเนื่องเป็นขั้นตอน กลไกการห้ามเลือดจะออกฤทธิ์สนับสนุน และยับยั้งซึ่งกันและกันภายในระบบ และระหว่างระบบ ร่างกายจึงอยู่ในภาวะสมดุล ไม่เกิดภาวะเลือดออกง่ายหรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดเมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น มีการฉีกขาดของหลอดเลือด หลอดเลือดจะหดตัวปิดรอยฉีดขาดนั้น เกล็ดเลือดถูกกระตุ้นให้เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนเลือดเพื่ออุดรอยฉีกขาดนั้น ปัจจัยการแข็งตัวของเลือดจะถูกกระตุ้นต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ จนเกิดก้อนไฟบริน และรวมกับก้อนเกล็ดเลือดที่แข็งแรงอุดรอยฉีกขาดของหลอดเลือด หลังจากนั้น 48-72 ชั่วโมง ปัจจัยการละลายลิ่มเลือดจะถูกกระตุ้นให้ออกฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด เพื่อให้เลือดไหลเวียนในหลอดเลือดได้ตามปกติ
ความผิดปกติของกระดูก
อาการปวดกระดูก เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มกระดูก มักเป็นที่กระดูกแขนขา เรียกว่า hypertrophic osteoarthropathy ลักษณะนิ้วมือเกร็งงอผิดรูป เกิดจากพังผืดฝ่ามือหนาตัวและดึงรั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเจริญของเซลล์ไฟโบรบลาสต์ และความผิดปกติของเนื้อเยื่อคอลลาเจน เรียกว่า Dupuytren’s contracture พบได้ร้อยละ 33 ของผู้ป่วยโรคตับแข็ง
ความผิดปกติของฮอร์โมน
ระดับฮอร์โมนเอสตราไดออลเพิ่มขึ้น ทำให้เต้านมโตขึ้น เกิดขึ้นร้อยละ 66 ของผู้ป่วยโรคตับแข็ง ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยาก ความต้องการทางเพศลดน้อยลง อัณฑะฝ่อ เกิดจากต่อมเพศโดยตรง หรือเกิดจากการกดฮอร์โมนจากฮัยโปธาลามัสและต่อมใต้สมอง
ตับและม้าม ผนังหน้าท้อง
การตรวจคลำขนาดของตับ อาจพบว่าตับโตขึ้น ขนาดปกติ หรือเล็กลง และตรวจพบม้ามโต เมื่อมีน้ำในช่องท้องเกิน 1500 มิลลิลิตร จะตรวจพบภาวะท้องมานทางหน้าท้อง อาจตรวจพบอัณฑะบวมน้ำร่วมด้วย เลือดจากระบบปอร์ตัลไหลย้อนกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำที่สะดือ ปรากฏเห็นชัดเจนที่ผนังหน้าท้อง เรียกว่า caput medusa นอกจากนี้อาจตรวจพบเสียงเลือดหมุนวนในหลอดเลือดดำที่ผนังหน้าท้องบริเวณใต้ลิ้นปี เรียกว่า Cruveilhier-Baumgarten murmur
อาการไตวาย
ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่เป็นมากซึ่งส่วนใหญ่จะมีท้องมานและขาบวมเนื่องจากมีน้ำและเกลือคั่งในร่างกาย อาจเกิดภาวะไตวายได้ โดยจะมีปัสสาวะน้อยลง จนกระทั่งไม่มีปัสสาวะออก และเสียชีวิตในที่สุด





การวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับแข็ง
มีประวัตินำไปสู่การเป็นตับแข็งได้ เช่น ดื่มสุราจัด มีประวัติป่วยด้วยโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี
อาการท้องมาน ตาตัวเหลือง มีหลอดเลือดเล็กๆขยายตัวเป็นจุดแดง มีแขนงยื่นออกไปโดยรอบคล้ายใยแมงมุมที่ผิวหนังบริเวณหน้าอกและไหล่ ม้ามโต
เจาะเลือดพบโปรตีนในเลือดลดลง สารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวต่ำกว่าปกติ มีระดับสารน้ำดี(Bilirubin) สูง ในกรณีที่มีการอักเสบของตับจะพบระดับเอ็นไซม์ 2 ตัว คือ SGOT (AST) และ SGPT(ALT)สูง นอกจากนี้การเจาะเลือดตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นสาเหตุของโรคตับแข็ง ได้แก่ การตรวจหาไวรัสตับอักเสบ บี และซี การตรวจพบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น Antinuclear Antibody(ANA),Anti Smooth Muscle Antibody บ่งชี้ว่าเป็นโรคตับอักเสบจากภูมิคุ้มกันของตนเอง ในผู้ป่วยที่เป็นโรควิลสันจะตรวจพบโปรตีนที่ทำหน้าที่จับทองแดงชื่อ Ceruloplasmin ลดลง จะพบระดับธาตุเหล็กในเลือดสูงขึ้น
การตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) เพื่อประเมินสภาวะของตับโดยแพทย์
การตรวจตับด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(Spiral Computer Tomography)
การตรวจตับด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI=Magnetic Resonance Imaging)
การส่องกล้องตรวจภายในช่องท้อง (Laparoscopy)
การตรวจชิ้นเนื้อตับทางพยาธิวิทยา(ด้วยกล้องจุลทรรศน์) โดยการใช้เข็มพิเศษ (Liver biopsy needle) เจาะผ่านผิวหนังดูดชิ้นเนื้อตับออกมาตรวจ

โรคแทรกซ้อนจากตับแข็ง
1. ท้องมาน ผู้ป่วยจะมีท้องโตเนื่องจากมีน้ำคั่งภายในช่องท้องมักมีขาบวมกดบุ๋ม 2 ข้างเกิดจากตับสร้างโปรตีนที่เรียกว่าอัลบูมินในกระแสเลือดลดลง อัลบูมินมีหน้าที่ช่วยอุ้มน้ำไว้ในกระแสเลือดเมื่อปริมาณอัลบูมินในเลือดลดลงร่วมกับความดันหลอดเลือดดำในตับสูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยตับแข็งมีน้ำและเกลือแร่รั่วออกมาจากเส้นเลือดในช่องท้องและเนื้อเยื่อของผู้ป่วย ทำให้เกิดภาวะท้องมานและบวม
1.1 การติดเชื้อภายในช่องท้องเนื่องจากโปรตีนหลายตัวที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันสร้างจากตับ เมื่อตับเสียหน้าที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง เมื่อเกิดร่วมกับภาวะท้องมานมีน้ำในช่องท้อง ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในช่องท้องได้
1.2 น้ำท่วมในช่องปอด พบว่าร้อยละ 5 ของผู้ป่วยท้องมานจากตับแข็งจะมีน้ำท่วมในช่องปอดโดย 2 ใน 3 ราย มีน้ำท่วมในช่องปอดขวาข้างเดียว
1.3 ภาวะไส้เลื่อนที่สะดือร้อยละ 20 ของผู้ป่วยท้องมานจากตับแข็งน้ำจะดันรูรั่วที่สะดือ สะดือนูนออกมาเป็นสะดือจุ่นขนาดโต โรคแทรกซ้อนที่พบคือผิวหนังบริเวณสะดือจุ่นเป็นแผลเกิดการติดเชื้อถ้าผิวหนังโป่งและแตกออกจะมีน้ำจากท้องมานรั่วออกและเกิดการติดเชื้อ กรณีนี้มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 50 บางรายมีลำไส้เลื่อนเข้ามาในสะดือจุ่นของขอบรูที่ผนังหน้าท้องกดรัดจนไม่มีเลือดมาเลี้ยงทำให้เกิดการเน่าอักเสบของลำไส้ ต้องรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาภาวะไส้เลื่อนที่สะดือคือพยายามควบคุมลดน้ำท้องมาน หรืออาจจำเป็นต้องผ่าตัดเย็บปิดรูที่สะดือ
2. ภาวะทางสมอง เนื่องจากตับขจัดสารพิษจากการสลายของโปรตีนไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน ซึมลง ในรายที่เป็นมากจะมีอาการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการรุนแรงขึ้นจากการสลายโปรตีนของร่างกายและจากการรับประทานอาหารโปรตีน จึงจำเป็นต้องจำกัดโปรตีนในอาหารให้น้อยที่สุดระหว่างที่มีอาการอยู่ ทำให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ดังนั้นควรเสริมโปรตีนที่เป็นกรดอะมิโนชนิดกิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนเพียงพอนอกจากนี้ถ้ามีเลือดออกโดยเฉพาะในทางเดินอาหาร จะทำให้มีการสลายโปรตีนจากเลือดหรืออุจจาระที่ค้างในลำไส้ใหญ่ซึ่งมีปริมาณโปรตีนสูง (ในเลือด 100 ซีซี จะมีโปรตีนสูงถึง 60 กรัม) การสลายโปรตีนจะเพิ่มปริมาณสารพิษ เช่น แอมโมเนียจนตับไม่สามารถกำจัดได้ทัน สารพิษเหล่านั้นจะไปยับยั้งการทำงานของสมอง ทำให้ผู้ป่วยซึมลงจนหมดสติได้
มีเลือดออกง่าย เพราะตับผลิตสารช่วยในการแข็งตัวของเลือดลดลงภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ (Portal Hypertension) ตับแข็งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงในระบบหลอดเลือดดำที่ผ่านตับ เป็นผลให้เกิดเส้นเลือดดำโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพราะอาหารส่วนต้น 35-80%ของผู้ป่วยตับแข็ง เส้นเลือดขอดนี้มีโอกาสแตกมีเลือดออกและหยุดยากและมีโอกาสเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 30-50
อาการไตวายเนื่องจากโรคตับ เชื่อว่าเป็นผลจากสารพิษที่ตับขจัดไม่ได้ ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่พ่นไตมีการกรองน้ำปัสสาวะออกจากเลือดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ภาวะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผลแม้แต่การเข้าเครื่องไตเทียมนอกจากการเปลี่ยนตับเท่านั้น
โรคมะเร็งตับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งนานๆมีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูง และทรุดเร็วกว่าปกติ


การดูแลและรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง
เมื่อเกิดตับแข็งแล้ว ขณะนี้ยังไม่มียารักษาแก้ไขภาวะพังผืดที่เกิดจากแผลเป็นในตับให้กลับมาเป็นปกติได้ นอกจากดูแลไม่ให้ตับมีการอักเสบหรือถูกทำลายมากขึ้น ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยโรคตับแข็ง คือ
กำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดตับอักเสบ เช่น งดดื่มสุรา รักษาไวรัสตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ บีและซี ในรายที่เป็นโรควิลสันให้ยากินขจัดทองแดงส่วนเกิน
ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอรับประทานอาหารครบส่วน รวมทั้งอาหารประเภทโปรตีนอย่างน้อยในปริมาณ 1-1-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันในรายที่ขาด
อาหารต้องเพิ่มโปรตีนสูงถึง 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ยกเว้นในรายที่เกิดอาการทางสมอง เนื่องจากตับขจัดสารพิษไม่ได้ ในระยะนี้จำเป็นต้องลดการกินอาหารโปรตีนตามคำแนะนำของแพทย์อาหารที่ควรบริโภค ควรแบ่งเป็น 4 - 6 มื้อ/วัน โปรตีนเป็นอาหารหลักที่สำคัญ โรคตับแข็ง ระยะที่ยังไม่มีอาการทางสมอง ควรกินโปรตีนที่มีคุณภาพดี คือ เนื้อ นม ไข่ ในปริมาณครึ่งหนึ่งของที่ควรกินปกติ เมื่ออาการดีขึ้น จึงค่อยเพิ่มขึ้น ส่วนระยะที่มีอาการทางสมอง ควรได้รับโปรตีนต่ำ หนึ่งในสามของที่กินปกติ และควรกิน ถั่วเมล็ดแห้ง และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ และกินอาหารที่มีใยอาหารสูง คือ ผัก ผลไม้ เพราะช่วยการขับถ่าย และลดของเสียจากการเผาผลาญโปรตีน ควรกระจายอาหารโปรตีนเฉลี่ยไปหลาย ๆ มื้อ มื้อละเท่า ๆ กันตลอดวันด้วย นอกนั้นควรกินอาหารพวกแป้งและน้ำตาลเพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอ ถ้าผู้ป่วยมีอาการบวม ท้องมาน มีน้ำในช่องท้อง ควรจำกัดอาหารที่โซเดียม เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว อาหารดองเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปูเค็ม รวมทั้งจำกัดน้ำในอาหารและเครื่องดื่ม แต่กินอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนต่ำได้มากเท่าที่ต้องการ เช่น มัน อาหารที่ทำจากแป้งเพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอ
ในรายที่มีขาบวม ท้องมาน ควรจำกัดการกินเกลือไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารดองเค็มเพื่อป้องกันไม่ให้บวมมากขึ้นจากภาวะมีเกลือคั่ง ในรายที่บวมมากแพทย์อาจสั่งยาขับปัสสาวะเพื่อลดภาวะท้องมาน และอาการบวม
การผ่าตัดเปลี่ยนตับ เป็นการรักษาที่ดีที่สุด แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่าย และตับที่มีผู้บริจาคมีจำนวนน้อยและผู้ป่วยเปลี่ยนตับยังจำเป็นต้องกินยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดหลังผ่าตัดเปลี่ยนตับ ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ผลดี มีอัตรารอดชีวิตมากกว่าร้อยละ 80 ภายในเวลา 5 ปี

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งควรได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ควรได้รับอาหารครบส่วน รวมทั้งอาหารประเภทโปรตีนอย่างน้อยโปรตีนได้น้อยกว่าปกติอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องกินเสริมให้เพียงพอ ยกเว้น ในรายที่เกิดอาการทางสมองเนื่องจากตับขจัดสารพิษไม่ได้ ในระยะเช่นนี้จำเป็นต้องกำกับการกินอาหารโปรตีนให้น้อยลงตาม คำแนะนำของแพทย์ ควรหลีกเลี่ยงสารพิษต่อตับ เช่น สุรา สำหรับยาที่อาจมีผลเสียต่อตับ เช่น ยาพาราเซตามอล ถ้าไม่กินในขนาดที่สูงเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ ก็ไม่มีผลเสียแต่อย่างใด








อ้างอิง
http://cyber.thailife.com/00728272/?p=news&NewsID=206
http://nutrition.anamai.moph.go.th/1675/old1675/Html/menu11/m1108.html
http://www.thailiverclub.org/magnews6.html
http://www.bangkokhealth.com/consult_htdoc/Question.asp?GID=5853

สมดุลของอิเลคโทรไลต์ในร่างกาย

อิเล็กโทรไลต์เป็นสารประกอบที่สามารถแตกตัวเป็นไอออนได้ ซึ่งในร่างกายสัตว์มีความสำคัญเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ถ้าหากว่าเกิดความผิดปกติใด ๆ จนถึงขั้นที่กลไกการควบคุมของเหลวและอิเลคโทรไลต์ไม่สามารถปรับสภาพเป็นปกติได้จะส่งผลให้เสียสมดุลของร่างกายและแสดงการเจ็บป่วย ซึ่งถ้าหากรุนแรงก็อาจจะทำให้สัตว์เสียชีวิตได้
อาการบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการตรวจ
1.ภาวะที่เห็นได้ชัดว่ามีการสูญเสียอิเล็คโทรไลต์เช่น ท้องเสีย อาเจียน เสียเลือด ซึงจะเป็นการเสียไปพร้อมกับน้ำ
2.ในรายที่สงสัยว่าเป็นโรคที่ทำให้เกิดการเพิ่มหรือลดของอิเลคโทรไลต์ เช่น สงสัยช่องท้องอักเสบ ทางเดินอาหารบิดหมุน ท้องอืด ภาวะอ่อนแรง ล้มนอน เป็นต้น
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การตรวจวิเคราะห์อิเลคโทรไลต์ประกอบด้วยการตรวจความเข้มข้นของอิเลคโทรไลต์ในซีรัมโดยการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ใช้หลักการ ion selective electrode (ISE) ซึ่งหมายถึง การตรวจวิเคราะห์โดยวัดการเคลื่อนที่ของ electron ของไอออนเฉพาะในน้ำยาเคมีที่มีประจุ (electrolytic solution)ที่จำเพาะต่ออิเลคโทรไลต์ ซึ่งเครื่องมือที่มีใช้ในโรงพยาบาลสัตว์คือเครื่อง Ion-selective electrod (ISE) analyzer โดยใช้ตัวอย่างส่งตรวจคือ ใช้ซีรัม โดยอาจจะเก็บจากหลอดเลือดดำที่โคนหาง ที่คอหรือใบหูก็ได้จากนั้นใสในขวดเก็บเลือดที่ไม่มีสารป้องกันการแข็งตัวของเลือดเพื่อให้ซีรัมแยกออกจากเม็ดเลือดและส่งห้องปฏิบัติการต่อไป
การวัดปริมาณแก๊สในเลือด (Blood gas analysis) เป็นวิธีตรวจความเป็นกรด-ด่างในเลือดได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยตัวอย่างส่งตรวจคือเลือดที่ผสมสารเฮพารินไม่ให้สัมผัสอากาศภายนอกและปิดให้สนิท ควรส่งตรวจให้เร็วที่สุดหรือแช่เย็นในน้ำแข็งไม่เกิน 4 ชั่วโมงเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงแก๊สให้น้อยสุด ควรวัดอุณหภูมิประกอบการตรวจเพราะมีผลต่อค่า PO2 และ PCO2 ชนิดของหลอดเลือดมีผลต่อความเป็นกรด-ด่างเนื่องจากเลือดจากหลอดเลือดแดงจะมีค่าความเป็นกรด-ด่างสูงกว่าและ PCO2 ต่ำกว่าเลือดเลือดดำ แต่เลือดจากหลอดเลือดดำจะมีไบคาร์บอเนตสูงกว่าดังนั้นเลือดจากหลอดเลือดดำจะให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการประเมินภาวะความเป็นกรด-ด่างจากกระบวนการเมทาบอลิซึมที่เป็นผลจากสาเหตุปฐมภูมิส่วนเลือดจากหลอดเลือดแดงเหมาะกับการประเมินความผิดปกติของการหายใจจากสาเหตุปฐมภูมิ


การประเมินและแปลผล

1.โซเดียม (Sodium) โซเดียม ส่วนใหญ่จะประกอบอยู่ในน้ำนอกเซลล์ ความเข้มข้นของโซเดียมจะคงที่อยู่ในช่วงที่แตกต่างกันน้อยมาก (132-152 mmole/l) โซเดียมมีประโยชน์ในการรักษาความดันออสโมติกของน้ำนอกเซลล์ไว้ ซึ่งมีผลต่อปริมาณของน้ำ และมีการเคลื่อนที่ย้ายน้ำในร่างกาย โซเดียมจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ และควบคุมความสมดุลของกรดด่างในร่างกาย
ภาวะขาดโซเดียม(Hyponatremia) มักเกิดจากการเสียโซเดียมไป (มีน้อยกว่า 132 mmole/l) โซเดียมในร่างกายจะเสียไป จากโรคในทางเดินอาหาร (อาเจียนหรือท้องเสีย) จากโรคไตบางชนิด ทำให้ท่อ ไต ดูดกลับโซเดียมได้น้อยลง หรือไม่ได้เลย การหลั่งฮอร์โมน ADH มากเกินไป หรือการให้สารน้ำที่เป็น hypotonic มากเกินไป (5% dextrose) เป็นต้น อาการของการขาดโซเดียม ในการสูญเสียโซเดียมมักจะเสียน้ำไปด้วยทำให้มีอาการขาดน้ำ (dehydration) เนื่องจากไตพยายามรักษาความดันออสโมติกของน้ำนอกเซลล์เอาไว้ โดยการขับน้ำออกมากขึ้น จะมีอาการซึม อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเกร็ง อาจจะมีกระตุก และชักได้ ท้องเดิน อาเจียน ถ้ายังคงขาดนาน ก็จะมีอาการรุนแรงจนเกิดหมดสติ และการไหลเวียนล้มเหลวได้
ภาวะโซเดียมเกิน(Hypernatremia) มักเกิดจากการกินเข้าไปมากหรือขับออกน้อยลง (มากกว่า 152 mmole/l) เช่นมีการหลั่งแอลโดสเทอโรน (aldosterone) มากเกินไป อาจเกิดจากการให้คอร์ทิโซน ซึ่งจะทำให้การดูดซึมกลับโซเดียมโดยท่อไตเพิ่มขึ้น ในโรคไตถ้ากินเข้าไปมากขับออกมาไม่ได้ ก็ทำให้โซเดียมคั่งได้เช่นเดียวกันอาการและอาการแสดงของการมีโซเดียมคั่ง คือ มีอาการสับสน บวม มีน้ำคั่งในช่วงว่างของเนื้อเยื่อ ปัสสาวะน้อยลง ปากแห้งและเหนียว ลิ้นจะขรุขระและแห้ง ถ้าไม่ให้การรักษาก็จะทำให้หมดสติได้

2.โพแทสเซียม (potassium) เหมือนกับอิเล็กโทรไลต์อื่นๆในร่างกาย โพแทสเซียมในร่างกายจะมีค่าคงที่ (3.5-5.1 mmole/l) แต่ถ้าค่ามีการเปลี่ยนแปลงมากจะทำให้มีผลต่อร่างกายได้ โพแทสเซียมมีมากในเซลล์มีความสำคัญในการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อหัวใจ การส่งกระแสประสาท ไตจะมีหน้าที่ในการควบคุมความเข้มข้นของโพแทสเซียม โดยเฉพาะถ้ามีการคั่งในน้ำนอกเซลล์ โพแทสเซียมจะถูกขับออกมาทางอุจจาระ
ภาวะขาดโพแทสเซียม(Hypokelemia) โพแทสเซียมจะไม่มีเก็บสำรองไว้ในร่างกาย การขาดอาจเกิดจากการได้รับเข้าไปน้อย การดูดซึมของลำไส้น้อยลงหรือมีการสูญเสียไปมาก การผ่าตัดลำไส้ออกก็อาจทำให้ขาดการดูดซึมได้ ถ้าไตเสียก็จะทำให้มีการเสีย โพแทสเซียมเช่นเดียวกัน แอลโดสเทอโรน ทำให้มีการดูดซึมโซเดียมมากขึ้น และขับโพแทสเซียมออกไปแทน ถ้ามีการหลั่งฮอร์โมนนี้มาก จะทำให้ขาดโพแทสเซียมได้ การเสียไปกับสิ่งขับจากระบบทางเดินอาหาร เช่น การอาเจียน หรือท้องเสีย จะทำให้มีการขาดโพแทสเซียม กล้ามเนื้อจะมีความไวต่อการขาดโพแทสเซียมมาก ถ้าขาดจะทำให้ มี การทำหน้าที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อโครงร่าง กล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อหัวใจได้ การขาดจะมีผลต่อหัวใจจะทำให้ชีพจรเบาเร็ว ถ้าขาดรุนแรงหัวใจจะโต และล้มเหลวได้ กล้ามเนื้อลายมีการอ่อนแรงและลีบ จะมีอาการอ่อนเพลียจนอาจมีอาการอัมพาตของขาและกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจวายได้ กล้ามเนื้อเรียบผิดปกติทำให้มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ และทางเดินอาหารน้อยลง มีอาการท้องอืด อาเจียน และไม่ถ่ายอุจจาระ เมื่อขาดโพแทสเซียมในน้ำนอกเซลล์ โพแทสเซียมในเซลล์ก็จะออกมาภายนอก ทำให้ขาดโพแทสเซียมในเซลล์ โซเดียมและไฮโดรเจนไอออนจะเข้าไปอยู่ในเซลล์แทนทำให้หน้าที่ของเซลล์เสียไป เกิดภาวะเป็นด่างในน้ำนอกเซลล์ เนื่องจากเสียโซเดียม และไฮโดเจนไอออนไป ภาวะโพแทสเซียมเกิน(Hyperkalemia) อาจเกิดจากการขับออกทางไตน้อย มีการสลายของเซลล์มาก (catabolism) หรือได้รับเข้าไปเป็นจำนวนมาก การมีปัสสาวะน้อยไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตามเช่นโรคไต ขาดน้ำ หรือช็อค ก็ทำให้มีการขับโพแทสเซียมออกมาน้อยลง นอกจากนั้นอาจเกิดจากการ ขาดฮอร์โมนอะดรีนัล คอร์เท็กซ์ เช่น คอร์ทิคอยด์ (corticoid) ทำให้ไตขับโพแทสเซียมน้อยลง แม้ว่าไตจะขับปัสสาวะออกได้ตามปกติก็ตามแต่มีการดูดซึมกลับของโพแทสเซียมในท่อไตมากขึ้น การทำลายของเนื้อเยื่อและเซลล์พบมากในพวกที่มีบาดเจ็บจะทำให้มีการปล่อยโพแทสเซียม ในเซลล์ ออกมาในน้ำนอกเซลล์ ทำให้มีจำนวนโพแทสเซียมสูง ขึ้น การคั่งของโพแทสเซียมจะทำให้มีอาการซึม กล้ามเนื้อลายเป็นอัมพาต ท้องเสีย ชีพจรเต้นเร็ว จนกระทั่งหัวใจวายตายได้

3.คลอไรด์ (Chloride)
เป็นไอออนลบซึ่งปกติโคมีความเข้มข้นของคลอไรด์ในพลาสมาประมาณ 94-111 mmole/l การเปลี่ยนแปลงระดับวามเข้มข้นของคลอไรด์ในซีรัม ทำให้สัดส่วนของระดับความเข้นข้นโซเดียมต่อความสมดุลของน้ำในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งความเข้มข้นของคลอไรด์จะแปรผกผันกันความเข้มข้นของไบคาร์บอนเนต ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนความเข้มข้นของคลอไรด์ จะมีความสัมพันธ์กับความไม่สมดุลของกรด ด่างเกิดขึ้นด้วย หากมีสัดส่วนของคลอไรด์สูงขึ้นรวมกับการมี anion gap เป็นปกติไปจนถึงต่ำ จะเกิดภาวะ metabolic acidosis ที่มีคลอไรด์สูง (hyperchloridemia) สภาวะร่างกายจะตอบสนองด้วยการชดเชยที่เรียกว่า respiratory alkalosis ส่วนการไม่สมดุลของสัดส่วนคลอไรด์ที่ต่ำนั้นจะเกิด metabolic alkalosis โดยจะชดเชยด้วยการเพิ่มความเป็นกรดในระบบหายใจ (respiratory acidosis) โดยการที่มีคลอไรด์ต่ำและเกิด metabolic alkalosis มักจะพบความผิดปกติของระบบการย่อยอาหารในสัตว์ 4 กระเพาะได้ทั่วไปและมีสาเหตุจากการสูญเสียน้ำที่มีคลอไรด์เป็นองค์ประกอบจำนวนมากหรือมีการสะสมของคลอไรด์ในน้ำที่ abomasums และ forestomuchs

สมดุลกรด-ด่าง
เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึมต่าง ๆ ของร่างกาย ค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือดโคปกติอยู่ระหว่าง 7.31-7.53 ถ้าหากลดลงต่ำกว่า 6.8 หรือสูงเกิน 7.8 อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
1. Metabolic acidosis เป็นภาวะที่มี pH ในเลือดต่ำกว่าปกติอาจเกิดจาก
a. การสูญเสียไบคาร์บอเนต สูญเสียไปกับการคัดหลั่งจากดูโอดีนัมและตับอ่อนปนออกมากับอุจจาระ ซึ่งเกิดในกรณีท้องร่วงดูดกลับไม่ทัน หรือการเสียไปกับน้ำลายในสัตว์ที่เป็นแผลในปาก
b. การสร้างและสะสมกรดแลกติกมากขึ้น เช่น เนื้อเยื่อที่เลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เกิดการสลายไกลโคเจนแบบไม่ใช้ออกซิเจนทำให้เกิดกรด
c. กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรทจะถูกหมักย่อยได้เป็นกรดเมื่อมีมากไปทำให้เกิดภาวะเป็นกรด
d. การขับไฮโดรเจนไอออนที่ไตลดลงร่วมกับการคั่งค้างของไบคาร์บอเนต เมื่อสัตว์เกิดสภาวะช็อคทำให้การไหลเวียนลดลงทำให้ขับไฮโดรเจนไอออนออกมาลดลง
2. Metabolic alkalosis เกิดจากการสูญเสียไฮโดรเจนไอออนในสิ่งคัดหลั่งจากกระเพาะโดยเฉพาะกรดไฮโดรคลอริก เช่น จากกระเพาะแท้พลิก เคลื่อนที่ผิดตำแหน่ง บิดตัว หรออัดแน่น ทำให้การดูดกลับถูกรบกวนเกิดการคั่งค้างในทางเดินอาหาร หรือเกิดจากได้รับอาหารที่มีด่างมากไป การที่มีด่างสะสมมากกว่าปกติร่างกายจะแก้ไขโดยการหายใจโดย hypoventilation ทำให้ค่า PCO2 เพิ่มขึ้น ถ้าร่างกายแก้ไขไม่ได้ต้องทำการรักษา
3. Respiratory acidosis เป็นภาวะเลือดมี pH ลดลงค่า PCO2 เพิ่มขึ้นเกิดจากการแลกเปลี่ยน O2 ลดลงทำให้ CO2 เข้าปอดได้ดีกว่าทำให้ PCO2 สูงขึ้น ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจตอนบน ร่างกายจะตอบสนองเอง ไม่ต้องให้ไบคาร์บอเนต
4. Respiratory alkalosis เกิดจากการหายใจลึกและถี่ผิดธรรมดาเรียกว่า hyperventilation ซึ่งอาจจะถูกกระตุ้นโดยภาวะ hypoxemia ทำให้ PCO2 ในเลือดลดลง และ pH สูงผิดปกติทำให้ซึม หัวใจเต้นเร็ว ไม่เป็นจังหวะ
5. Mixed acid-base imbalances เกิดจากร่างกายมีภาวะเสียสมดุลกรด-ด่างแบบปฐมภูมิหลายอย่างร่วมกัน ทั้งเกิดจากภาวะผิดปกติ metabolic acidosis และ metabolic alkalosis แบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสองแบบ ร่วมกับภาวะผิดปกติจากการหายใจทั้งที่มีกรดหรือด่างสะสมมากกว่าปกติ

การวัดความผิดปกติของสมดุลกรด-ด่างด้วยไบคาร์บอเนต
ปริมาณไบคาร์บอเนตหรือคาร์บอนไดออกไซด์รวม (TCO2) เป็นค่าที่ใช้ประเมินความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตในร่างกาย ปกติแล้วความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตจะใกล้เคียงกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ตรวจวัดได้คือประมาณ 95 % เมื่อความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์รวมเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ความเข้มข้นของคาร์บอเนตไอออนเปลี่ยนตามไปด้วย จึงใช้ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงสมดุลกรด-ด่าง ที่เปลี่ยนแปลงทางเมตตาบอลิซึมในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหายใจ ช่วงค่าความเข้มข้นไบคาร์บอเนตและคาร์บอนไดออกไซด์รวมของโคปกติคือ 17-29 และ 21-34 mmol/L เมื่อความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตและคาร์บอนไดออกไซด์รวมลดลงจะทำให้ความผิดปกติของ metabolic acidosis รุนแรงเพิ่มขึ้น และความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตและคาร์บอนไดออกไซด์รวมเพิ่มขึ้นในรายที่เป็น metabolic alkalosis

Anion Gap
Anion gap (mmol/L)= (Na+K)-(Cl+HCO3)
ค่า Anion gap สะท้อนถึงค่าการเปลี่ยนแปลงของอิเลกโทรไลต์ในร่างกายแต่การแปลผลมีความคลาดเคลื่อนได้ (13-20 mmole/l) ในกรณีที่สัตว์เกิดภาวะผิดปกติของเมตตาบอลิซึมที่ร่างกายมีกรดสะสมมากกว่าปกติ เนื่องจากสูญเสียไบคาร์บอเนตและมักร่วมกับโซเดียมไอออน ค่า anion gap จะไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ากรดแลกติคสะสมมากกว่าปกติ anion gap จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากไบคาร์บอเนตลดลงแต่คลอไรด์คงที่ ยังพบ anion gap สูงในรายที่เกิดภาวะช็อคจากของเหลวในเลือดต่ำ





เอกสารอ้างอิง

กัลยา เจือจันทร์. 2541. เอกสารประกอบการสอนเรื่อง ภาวะทางระบบทั่วไป. คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น. หน้า 47-65
อนันตชัย ชัยยศวิทยากุล. ไม่ระบุปี. อายุรศาสตร์สัตว์เคี้ยวเอื้อง. คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น.
Carlson, G.P. 1990. Clinical chemistry test. In: Smith, B.P. (ed.) Large Animal Internal Medicine. 1st editions. Mosby,Inc. A Hartcourt Health Sciences. St. Louis. pp.398-412
Morag, G.K. 2002. Veterinary Laboratory Medicine. 2nd edition. Blackwell Science. London. pp. 81-90

การพยาบาลผู้ป่วยก่อนรับการผ่าตัด

การเตรียมและดูแลผู้ป่วยโดยทั่วไปก่อนรับการผ่าตัด
1. ซักถามหรือสอบถามข้อมูลต่างๆ ตลอดจนการสังเกตอาการต่างๆ ของผู้ป่วยให้ถูกต้องและชัดเจน และควรซักถามจาญาติผู้ป่วยเพิ่มเติม
2. แนะนำหรือปฐมนิเทศให้ผู้ป่วยรู้จักสถานที่ สิ่งแวดล้อมต่างๆในหอผู้ป่วย
3. ประเมินค่าสัญญาณชีพ(vital signs) ชั่งน้ำหนัก
4. เก็บ Specimens ส่งตรวจทางห้องทดลองตามแผนการรักษา
5. ให้ผู้ป่วยเซ็นชื่อยินยอมรับการรักษาโดยการผ่าตัดตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ในแต่ละโรงพยาบาล พร้อมทั้งมีพยานเซ็นชื่อกำกับไว้ด้วย
5.1 ผู้ป่วยซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ สามารถเซ็นยินยอมได้ หากไม่บรรลุนิติภาวะแต่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีสติสัมปะชัญญะดี สามารถเซ็นใบยินยอมผ่าตัดได้ด้วยตนเองได้
5.2 ผู้ป่วยที่มีสุขภาพจิตที่ไม่สมบูรณ์ต้องให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมายเป็นผู้เซ็นใบยินยอม
5.3 ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถตามผู้ปกครองมาเซ็นใบยินยอมผ่าตัดและศัลยแพทย์ต้องรีบผ่าตัดเร่งด่วนเพื่อช่วยชีวิต ต้องให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเป็นผู้เซ็นใบยินยอม
5.4 ในกรณีผู้ป่วยหรือผู้ปกครองไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือข้างขวาของผู้นั้น และให้เขียนกำกับตรงลายพิมพ์ว่า “ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือขวาของผู้ป่วยหรือผู้ปกครองของผู้ป่วยนั้น” และให้พยานลงชื่อกำกับ
6. แนะนำให้ผู้ป่วยงดสูบบุหรี่ในรายที่มีประวัติสูบบุหรี่ สำหรับผู้ป่วยที่รอเข้ารับการผ่าตัดชนิดรอได้
7. รายงานแพทย์ทราบเมื่อประเมินสภาพผู้ป่วยแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติดื่มสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด


8. อธิบายถึงการการเตรียมตัวผู้ป่วยให้ถูกต้อง
8.1 การเตรียมผิวหนังก่อนการผ่าตัด
8.2 การเตรียมลำไส้ก่อนการผ่าตัด
8.3 การให้ยากล่อมประสาท
8.4 การงดน้ำและอาหารก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
8.5 การให้ยาก่อนระงับความรู้สึกก่อนการผ่าตัด
9. สอนและแนะนำการออกกำลังกายบนเตียง
9.1 การหายใจเข้าเต็มที่ช้าๆ และการหายใจออกยาวๆ
9.2 การออกกำลังขาทั้งสองข้างขณะพักอยู่บนเตียง
9.3 การพลิกตัวตะแคงซ้ายหรือขวา
10. การแนะนำให้ผู้ป่วยเกี่ยวกับการลุกเดินโดยเร็ว (Early ambulation)
11. ดูแลการได้รับสารอาหาร น้ำและอิเล็คโตรไลท์ บางรายที่มีภาวะโลหิตจางแพทย์มักให้เลือดทดแทน สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานอาหารได้ก่อนการผ่าตัด พยาบาลดูแลให้ได้รับอาหารแคลอรี่สูง โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่สูง
12. บันทึกจำนวนน้ำที่ได้รับและที่ขับถ่ายออกแต่ละวันให้ถูกต้องแน่นอน เพื่อความสมดุลของน้ำในร่างกาย
13. ชั่งน้ำหนักทุกวันตามแผนการรักษาของแพทย์
14. ดูแลสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ ไม่มีเสียงรบกวนมาก ที่นอนควรเรียบตึง และสะอาดสิ่งแวดล้อมและของร่างกาย
15. สังเกตอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยที่เกี่ยวกับภาวะการขาดน้ำ ภาวะขาดโซเดียมและโปตัสเซียม หากพบความผิดปกติควรรีบรายงานแพทย์เพื่อให้การรักษา
16. สังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และติดตามผลการตรวจทางห้องทดลอง การตรวจทางรังสี และการตรวจพิเศษอื่นๆ หากพบอาการผิดปกติรายงานแพทย์ทราบ
17. ดูแลความสะอาดของผิวหนังและช่องปากเสมอ

การเตรียมและการดูแลผู้ป่วยในเช้าวันผ่าตัด
1. การตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่เตรียมการผ่าตัด ซักถามการพักผ่อนนอนหลับ การงดอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืน ผลการสวนอุจจาระ(ถ้ามี) และสังเกตอาการทั่วไป ตลอดจนกิจกรรมการรักษาพยาบาลพิเศษที่ให้กับผู้ป่วย เช่น การคาสายยางสำหรับการสวนปัสสาวะ การให้อาหารและน้ำทางหลอดเลือดดำ ฯลฯ
2. ตรวจดูความเรียบร้อยของผิวหนังบริเวณที่จะทำผ่าตัดว่าได้รับการทาผิวหนังด้วย Aseptic solutionในตอนเช้ามืดแล้ว
3. เก็บของมีค่า กิ๊บติดผม ฟันปลอม contact lens ฯลฯ จากตัวผู้ป่วยฝากไว้กับหัวหน้าตึกหรือพยาบาลประจำการ
4. บันทึกสัญญาณชีพ เพื่อประเมินสภาพการเปลี่ยนแปลงของตัวผู้ป่วย บันทึกไว้ในรายงานทางการพยาบาลสำหรับเปรียบเทียบในขณะที่ทำการผ่าตัด และบันทึกอาการและการรักษาพยาบาลที่ผู้ป่วยได้รับในรายงานทางการพยาบาลด้วย
5. ตรวจดูความเรียบร้อยของรายงานผู้ป่วย ตลอดจนผลการตรวจต่างๆ ตามแผนการรักษา
6. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาก่อนระงับความรู้สึก(pre-medication)
7. แนะนำให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะก่อนย้ายไปห้องผ่าตัด เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่างในรายที่ไม่ได้สวนปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะไว้ให้ตวงปัสสาวะและเททิ้งพร้อมกับบันทึกในรายงานการพยาบาล
8. ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นเปลเข็นของห้องผ่าตัดเมื่อพนักงานเปลมารับผู้ป่วย และเตรียมของใช้ต่างๆให้ครบ พร้อมลงบันทึกลงในสมุดสิ่งส่งมอบทุกครั้ง
9. เตรียมเตียงของผู้ป่วยให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะรับผู้ป่วยกลับจากห้องผ่าตัด โดยทำเตียงแบบ Anesthetic bed และควรมีการปูผ้ายางขวางเตียงตรงกับบริเวณแผลผ่าตัดผู้ป่วยด้วย รวมทั้งเตรียมผ่าห่ม เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วยหลังทำการผ่าตัด ซึ่งจะมักรู้สึกหนาว นอกจากนี้ควรเตรียมของให้ที่จำเป็น เช่น เสา สาแหรกแขวนสารละลายที่ให้ทางหลอดเลือดดำ เครื่องดูดเสมหะพร้อมกับขวดน้ำยา เครื่องดูดชนิดต่างๆ ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้กับผู้ป่วย